“ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดที่ยังดำรงชีพอยู่ หากแต่เป็นสายพันธุ์ที่รู้จักปรับตัว” – ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ
สัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน บางตัวตาโต บางตัวหูใหญ่ บางตัวมีลาย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นนะ
นั่นเพราะสัตว์แต่ละชนิดค่อยๆ วิวัฒนาการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีชีวิตรอด โดยส่งผ่านลักษณะดีๆ ให้ตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งผลจากการปรับตัวนี้ก็แสดงให้เห็นผ่านร่างกายสัตว์ที่สุดแสนมหัศจรรย์พันลึก
สัตว์บางชนิดปรับเปลี่ยนร่างกายเพื่อให้สะดวกต่อการล่าเหยื่อ บ้างก็ปรับเพื่อป้องกันตัวจากผู้ล่า หรือปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารได้
มารู้จักกับสัตว์ที่มีร่างกายสุดพิศวงที่จะทำให้คุณต้องทึ่งกันเถอะ
ปลานกขุนทองปากยื่น : ยื่นปากออกไปกินเหยื่อ
ดูเผินๆ ปลานกขุนทองปากยื่น (slingjaw wrasse) ก็เหมือนปลาธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีอะไรพิเศษแปลกพิสดาร แต่ถ้าเจอเหยื่อที่หมายตาไว้เมื่อไร ปลานกขุนทองปากยื่นจะยื่นขากรรไกรที่ยาวเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัวออกไปจับเหยื่ออย่างรวดเร็ว
ผีเสื้อ : รับรสด้วยขา
คนเรามีต่อมรับรสที่ลิ้น แต่ผีเสื้อมีต่อมรับรสอยู่ที่ปลายขาทั้งหกขา! เวลาผีเสื้อหาที่วางไข่ มันจะบินไปเกาะใบไม้เพื่อรับรสว่าใบไม้ที่ยืนอยู่นั้นใช่ใบไม้ที่ตัวอ่อนของมันกินเป็นอาหารหรือไม่ เพื่อที่จะวางไข่ได้ถูกต้นนั่นเอง
จิ้งเหลนลิ้นสีน้ำเงิน : ลิ้นขู่ศัตรู
เป็นที่รู้กันในหมู่สัตว์ว่าหากสัตว์ตัวใดมีสีสดๆ อย่าง สีดำ สีแดง หรือสีเหลือง แปลว่าสัตว์ตัวนั้นอันตราย มีพิษร้ายแรง หรือรสชาติไม่อร่อย แต่ก็มีสัตว์ที่ไร้พิษภัยบางชนิดที่มีสีสันสดๆ เลียนแบบสัตว์มีพิษ เพื่อหลอกให้ผู้ล่าเข้าใจผิดไม่กล้ากิน จนมันรอดชีวิตมาได้ เหมือนจิ้งเหลนลิ้นสีน้ำเงิน (blue-tongued skink) แห่งออสเตรเลีย ที่เมื่อถึงเวลาจวนตัวจะอ้าปากกว้าง เผยให้เห็นลิ้นสีน้ำเงินที่แลบออกมาตัดกับปากสีชมพู ศัตรูจึงต้องตัดใจหรือตกใจจนเผ่นหนีไป
ปลาสี่ตา : มองบนพร้อมมองล่าง
ปลาสี่ตา (four-eyed fish) ไม่ได้มีสี่ตาเหมือนชื่อหรอกนะ แต่มีสองตาเหมือนสัตว์ทั่วไป ที่มันมีชื่อเรียกว่าปลาสี่ตาเพราะว่าดวงตาแต่ละข้างของปลาชนิดนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนบนและส่วนล่าง โดยตาส่วนบนนั้นโผล่พ้นน้ำเพื่อคอยระวังผู้ล่า ส่วนตาข้างล่างไว้มองหาเหยื่อใต้น้ำ เราจึงพบเห็นปลาชนิดนี้ว่ายเรี่ยผิวน้ำอยู่เสมอ