EF : ทางเลือกใหม่ของการเลี้ยงลูกให้เก่งและมีความสุข

“สมองของลูกเรามีศักยภาพสูง และพร้อมจะรับมือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างแน่นอน หากเราใจกว้างและเข้มแข็งในการสร้างวินัยให้แก่ลูกมากพอ”

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กได้กล่าวไว้ในการเปิดตัวหนังสือ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง” ในยุคสมัยใหม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก ความสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ของโลกจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถตอบโจทย์อันท้าทายนี้ได้

ภาพจากหนังสือ “บ้านนี้มีเด็กขี้โมโห”

EF: มิติใหม่ของการบ่มเพาะความแข็งแกร่งรอบด้าน

จากการวิจัยทั้งในและนอกประเทศต่างยืนยันว่า EF ช่วยให้มนุษย์เกิดทักษะทางด้านความคิด อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม การวางแผน และการปรับตัว ดังนั้นเด็กจึงสามารถเติบโตพร้อมกับมีพัฒนาการรอบด้าน ปลูกฝังพฤติกรรมอันพึงประสงค์ และผลักดันให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ด้วยตนเอง

อะไรคือ EF?

Executive Functions (EF) คือ ชุดกระบวนความคิดที่เกิดขึ้นในสมองส่วนหน้า เนื่องจากสมองส่วนหน้ามีหน้าที่เกี่ยวกับการปรับความรู้สึก ความเข้าใจถึงสถานการณ์ และการใช้คำพูด จึงแสดงออกผ่านพฤติกรรม ฉะนั้น การมี EF ทำให้เด็กรู้จักการควบคุม แสดงออกอย่างเหมาะสม และมีระบบเรียบเรียงความคิดที่ดี ปรับตัวกับสถานการณ์ได้ EF จึงกลายเป็นการพัฒนาที่สำคัญควบคู่กับ IQ และ EQ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัย 3 – 6 ปี และนำไปสู่อุปนิสัยในอนาคต 

EF ประกอบด้วย 9 ด้าน ได้แก่

1. Working Memory ด้านการทำงานของกระบวนการความจำเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ และนำมาใช้

2. Inhibitory Control ด้านการยั้งคิด และควบคุมแรงปรารถนาให้อยู่ในระดับเหมาะสม

3. Cognitive Flexibility / Shift ด้านการรู้จักยืดหยุ่นความคิดให้เข้ากับสถานการณ์ สามารถหาแนวความคิดชุดใหม่ได้

4. Focus / Attention ด้านการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ว่อกแว่ก

5. Emotional Control ด้านการจัดการทางอารมณ์ รวมถึงความเครียดและความเหงา

6. Planning and Organizing ด้านการคิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มองเห็นภาพรวม และลำดับขั้นตอนได้

7. Self – Monitoring ด้านการรู้จักประเมินตัวเองได้ มองเห็นถึงข้อบกพร่อง และคาดการณ์ผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำ

8. Initiating ด้านการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

9. Goal – Directed Persistence ความหมั่นเพียรสู่จุดมุ่งหมาย เมื่อลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วต้องทำให้ถึงที่สุด

ภาพจากหนังสือ “ห่านเอ็ดตะโร อยากได้ อยากได้”

การอ่านนิทานช่วยพัฒนา EF

ปัจจุบัน สื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับ EF มีความหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบการเล่านิทาน การเล่นเกม การเล่นประกอบเพลง หรือเกมปริศนาใช้ความคิด เป็นต้น ซึ่งผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีแรกของการเลี้ยงดู เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการปลูกฝังเรื่องที่ดี หลังจากนั้นเด็กจะมีความเป็นตัวเองมากขึ้น และมีอิสระในการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าควรใช้ช่วงเวลานี้ด้วยกันให้มีค่าเท่าที่จะทำได้

โดยทางสำนักพิมพ์ห้องเรียนได้จัดทำ Boxset หนังสือนิทานพัฒนาทักษะสมอง EF ปูพื้นฐานให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ รวมทั้งหมด 13 เล่ม ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันรักลูกกรุ๊ปและ สสส. ว่าเหมาะสมกับให้ลูกหลานอ่านหลายเล่ม ได้แก่

1. เจี๊ยบกลมกลมแปลงกาย

2. สมบัติหรรษาของวัวสี่เหลี่ยม

3. รักกันนะ กอดกันหน่อย

4. มือน้อยทำได้

5. ห่านเอ็ดตะโร อยากได้ อยากได้

6. ระเกะระกะ

7. บ้านเรามีเงาประหลาด

8. บ้านนี้มีเด็กขี้โมโห

9. บ้านเฮฮาลีลาน่ารัก

10. เข้ให้เข้หวง

11. แม่จ๋าหนูอยู่นี่

12. ผู้กล้าแห่งป่าสีสัน

13. นอนแล้วนะพระจันทร์

เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากที่สุดผู้ปกครองควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ วิธีนี้จะยังช่วยสานสัมพันธ์ความรักความอบอุ่นระหว่างตัวเด็กและผู้ปกครองอีกด้วย

บรรณานุกรม

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. EF เป็นเรื่องของสมอง เป็นความสามารถของสมอง มิใช่นิสัย. เข้าถึงเมื่อ 27 ตุลาคม 2563. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/prasertpp/photos/ef-เป็นเรื่องของสมอง-เป็นความสามารถของสมอง-มิใช่นิสัยเรามีเวลาช่วงปฐมวัยที่จะพัฒ/542479429433889/

สุภาวดี หาญเมธี. EF ทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบัน RLG, 2560.

________. พัฒนาทักษะสมอง EF ด้วยการอ่าน. กรุงเทพฯ: สถาบัน RLG, 2559.

Facebook
Twitter
Email