ทุกๆ คนคงเคยได้ยินว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน นั่นเพราะการเรียนรู้ของเราเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต
แต่การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดเริ่มมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ เสียงที่ได้ยิน การสั่นไหวต่างๆ เมื่อออกมาแล้วก็ยังมองเห็น ได้กลิ่น ลิ้มรสชาติ และรับรู้สัมผัสต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ระหว่างนั้นเอง เซลล์ประสาทในสมองจะส่งชุดข้อมูลไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ ด้วยความเร็วสูง ยิ่งเราฝึกฝนและเรียนรู้มากเท่าไหร่ เซลล์ประสาทจะยิ่งแข็งแรง และระหว่างเซลล์ประสาทก็จะมีสะพานที่ช่วยเชื่อมต่อ นั่นคือ จุดประสานประสาท (Synapse) ยิ่งใช้บ่อย สะพานก็จะยิ่งขยายตัวและแข็งแรงเช่นกัน
ในช่วง 2 – 3 ปีแรก จุดประสานประสาทจะมีจำนวนเยอะที่สุด ถึง 15,000 จุดประสานประสาทต่อเซลล์ประสาท ถือเป็นช่วงพีคของชีวิตทีเดียว ดังนั้นจึงเหมาะจะเป็นช่วงที่เด็กๆ จะได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้เรื่องต่างๆ
รศ.พญ. ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก เคยอธิบายถึงการทำงานของสมองเด็กในช่วงวัย 1-5 ปีแรก ว่าเด็กต้องการที่จะเรียนรู้โลก เหตุและผล รวมทั้งการเชื่อมโยงตัวของเด็กผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันสมองของเด็กก็เป็นจังหวะที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด เป็นช่วงที่เส้นใยประสาทกำลังก่อตัวสูงที่สุด ทำให้เมื่อได้เรียนรู้ต่าง ๆ ก็สามารถพัฒนาสมองได้ถึง 85% เทียบเท่ากับสมองของผู้ใหญ่
จะเสริมพัฒนาการให้ลูกอย่างไรดี
เด็กช่วงวัย 2-3 ปี เป็นวัยที่นักวิชาการหลายๆ คนมักจะบอกว่า ให้ฝึกหรือฟังภาษาต่างๆ หรือทำกิจกรรมเยอะๆ นอกจากจะเป็นช่วงวัยที่สมองกำลังพัฒนาได้ดีแล้ว ยังเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเรียนรู้ในการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง หยิบจับ การพูด รวมถึงการเรียนรู้เรื่องกฎและสังคมง่ายๆ อีกด้วย
หนังสือที่จะช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็กวัย 2-3 ปี มักจะเป็นหนังสือที่เปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัส เช่น หนังสือผ้า (Fabric book) สื่อผ้า (Quiet book) หนังสือสัมผัส (Touch and feel book) หนังสือลอยน้ำ หนังสือฟองน้ำ ฯลฯ หรือหนังสือที่ช่วยพัฒนาการด้านภาษาอย่างหนังสือคำกลอนที่เด็กๆ จะสนุกกับเสียงสูงต่ำ (Rhythm) ก็จะช่วยให้เด็กสนุกกับการออกเสียงตาม
เสริมพัฒนาการด้วยหนังสือผ้า
หนึ่งในประเภทหนังสือที่แนะนำคือหนังสือผ้า หลายๆ คนอาจเห็นว่าหนังสือผ้าแพงและจำนวนหน้าก็น้อย จะคุ้มไหมนะ ปกติแล้วสมาธิของเด็กๆ สั้นค่ะ ยิ่งเด็กเล็กยิ่งสั้น (ประมาณ 5 นาที) แต่ถ้าได้ฟังนิทานทุกวัน สมาธิของเด็กๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
อีกทั้งไม่ว่าเด็กๆ จะดึง ขยำหรือขยี้ หนังสือผ้าก็ไม่ขาดง่ายๆ เมื่อเด็กๆ ได้จับหนังสือผ้า กล้ามเนื้อมือและนิ้วมือจะถูกใช้งาน ระหว่างนั้นเขาก็จะเรียนรู้เรื่องสัมผัส สีสันของภาพ พร้อมกับเสียงของคนเล่า เมื่อทำเป็นกิจวัตร เขาก็จะเรียนรู้และเชื่อมโยงเสียงและหน้าแต่ละหน้าได้ รวมถึงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคำกับภาพได้อีกด้วย
ยิ่งในแต่ละหน้ามีพื้นผิวหรือลูกเล่นเสียงที่แตกต่างจากผ้าปกติที่เขารู้จัก ระหว่างขยับและฟัง ข้อมูลต่างๆ จะวิ่งจากเซลล์ประสาทหนึ่ง ผ่านจุดประสานประสาท แล้วก็ผ่านเซลล์ประสาทนับไม่ถ้วน ไปสู่การเก็บข้อมูลที่ปลายทางนั่นเอง
หนังสือผ้าของสำนักพิมพ์ห้องเรียน
ในส่วนของสำนักพิมพ์ห้องเรียนก็มีหนังสือผ้าแล้วนะคะ จุดเด่นอยู่ที่เป็นหนังสือผ้าเนื้อเพลงร้องเล่นที่เราคุ้นเคย คือ เพลงแมงมุมลาย โยกเยก จับปูดำ กุ๊กไก่ ผ่านภาพประกอบน่ารักๆ และยังสามารถเข้าไปฟังเพลงได้ที่ช่อง Youtube ของสำนักพิมพ์ด้วยค่ะ
หน้าแรกของหนังสือมีลูกเล่น นั่นคือ เสียงก๊อบแก๊บ ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจและช่วยให้เด็กเริ่มคิด สงสัย และเรียนรู้ ว่าเมื่อขยำ ขยับ เสียงที่เกิดขึ้นจะมีความดังของเสียงที่ไม่เหมือนกัน จับเบาๆ ก็มีเสียงเบาๆ จับแรงๆ ก็จะมีเสียงที่ดังขึ้น แม้เราจะคิดว่าเรื่องอาจจะดูเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าสำหรับเด็กเล็กแล้ว เขายังไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย
ส่วนภาพและสีสันของเรื่องก็สดใส ภาพใหญ่สะดุดตา เด็กๆ สามารถรู้ได้เลยว่า สัตว์แต่ละตัวในเรื่องมีอะไรบ้างและกำลังทำอะไร หมึกพิมพ์ก็ใช้หมึกที่ปลอดภัยต่อเด็กๆ ดังนั้นสามารถสัมผัสและอมได้แน่นอน และจุดดีของหนังสือผ้าอีกเรื่องก็คือซักได้ค่ะ ไม่ว่าจะเลอะน้ำลายแค่ไหน นำไปซักก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แล้วค่ะ
สุดท้าย เรื่องสำคัญของการใช้หนังสือกับเด็ก คือ เสียงของคนเล่า ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูงต่ำ จังหวะ และความรู้สึกระหว่างที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน เด็กๆ จะจดจำและเกิดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างคนเล่าและเด็กๆ มากขึ้น ตัวตนและบทบาทของคนเล่าในใจของเด็กๆ จะกลายเป็นตัวตนที่มีอยู่จริงในโลกของเขา เพราะฉะนั้นอ่านหนังสือให้เขาฟังบ่อยๆ ยิ่งอ่านเยอะ ยิ่งมีประโยชน์ต่อเด็กๆ และตนเองค่ะ
เลือกสรรหนังสือผ้าของสำนักพิมพ์ห้องเรียนได้ที่หมวด หนังสือผ้า
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.healthline.com/health/synaptic-pruning#timeline
https://www.brainandlifecenter.com/neurogenesis-brainplasticity-brain