กำเนิดครุฑและนาค

ตำนานแค้นของพี่น้องร่วมสายเลือด

ครุฑ และ นาค เป็นสัตว์หิมพานต์ในตำนานของศาสนาพราหมณ์−ฮินดู ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและพบเห็นได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมไทย แม้ทั้งสองต่างเป็นสัตว์วิเศษทรงอิทธิฤทธิ์ มีพละกำลังและศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่เคยสงสัยไหมว่าในรูปปั้นหรือภาพเขียน นาคจะต้องถูกครุฑยึดจับไว้ด้วยกรงเล็บแหลมคม สิ้นฤทธิ์ไม่อาจต่อกรทุกทีไป

และยิ่งน่าประหลาดใจมากขึ้น หากได้รู้ว่าครุฑกับนาคนั้น แท้จริงแล้วคือพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน

เรื่องราวเริ่มจากเมื่อครั้งอดีตกาล พระกัศยป เทพบิดรผู้มีอิทธิฤทธิ์แก่กล้า มีมเหสี 2 องค์ ชื่อนางกัทรุ และนางวินตาซึ่งทั้งสองไม่ลงรอยและขัดแย้งกันอยู่เสมอ

วันหนึ่ง มเหสีทั้งสองได้รับพรจากพระกัศยปคนละ 1 ข้อ นางกัทรุขอให้มีโอรสผู้ทรงอิทธิฤทธิ์จำนวนมาก จึงออกลูกมาเป็นไข่ 1,000 ฟอง ส่วนนางวินตาขอโอรสเพียง 2 องค์ แต่ให้มีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าลูกทั้งปวงของนางกัทรุ จึงออกลูกเป็นไข่เพียง 2 ฟอง

กาลเวลาล่วงไป 500 ปี ไข่ของนางกัทรุฟักออกมาเป็นนาค 1,000 ตัว

นางวินตาร้อนใจมาก เพราะไข่ของนางยังไม่มีวี่แววว่าจะฟักออกมา จึงลองทุบไข่ใบหนึ่ง ปรากฏว่าโอรสที่อยู่ภายในมีร่างเพียงครึ่งตัวเท่านั้น จึงมีนามว่า พระอรุณ หรือ อนอุรุ แปลว่าไม่มีต้นขา

พระอรุณโกรธมารดามากที่ทำให้ตนต้องออกจากไข่ก่อนกำหนด จนมีร่างกายไม่สมประกอบ จึงสาปแช่งนางวินตาให้ตกเป็นทาสของนางกัทรุ จนกว่าโอรสองค์ที่สองจะช่วยให้หลุดพ้น

วันหนึ่ง นางวินตาแพ้พนันนางกัทรุเรื่องทายสีของม้าอุจไฉศรพ ซึ่งเป็นพาหนะของพระอาทิตย์ ทำให้นางวินตาต้องตกเป็นทาสนางกัทรุตามคำสาปของพระอรุณ

เวลาผ่านไปอีก 500 ปี ในที่สุดไข่ใบที่สองของนางวินตาก็แตกออก กำเนิดเป็นพญาครุฑทรงอิทธิฤทธิ์ กายสีทองสง่างาม กึ่งนกกึ่งเทวดา นามว่า เวนไตย แปลว่า เกิดจากนางวินตา และตกเป็นทาสของนางกัทรุและเหล่านาคตามมารดาของตน

พญาครุฑสงสารมารดามาก จึงสอบถามเหล่านาคว่าต้องทำอย่างไรจึงจะไถ่ถอนมารดาจากการเป็นทาสได้

นาคจึงให้ครุฑบุกไปชิงน้ำอมฤตจากเหล่าเทวดามาให้พวกตน เพื่อแลกกับอิสรภาพของนางวินตา 

พญาครุฑจึงตกลงรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยใจมุ่งหวังอันแรงกล้าแม้รู้ดีว่ายากลำบากและเสี่ยงอันตราย

น้ำอมฤตคือสิ่งใด มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงเป็นที่หมายปองของเหล่านาค

พญาครุฑจะทำการสำเร็จ และไถ่ถอนอิสรภาพของมารดาคืนจากเหล่านาคได้หรือไม่

และความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องร่วมบิดา ซึ่งมีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่กำเนิดจะลงเอยอย่างไร

ติดตามความโดยพิสดารต่อได้ในหนังสือ ตำนานหิมพานต์ หนังสือรางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสารคดีสำหรับเด็กอายุ 6−11 ปี ประจำปี พ.ศ. 2564 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ 

Facebook
Twitter
Email