รามเกียรติ์ ต้นกำเนิดสำนวนสุภาษิต : ลูกทรพีและวัดรอยเท้า

สำนวน คือถ้อยคำหรือคำพูดที่มีลักษณะเฉพาะตัวและไม่แปลตรงตามตัวอักษร เพราะสำนวนมีความหมายในตัวเอง และคำบางคำอาจนำมาใช้ให้มีความหมายต่างจากเดิม ดังนั้นการเข้าใจความหมายของสำนวนจึงต้องรู้เรื่องราวของสำนวนเพื่อนำมาตีความให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งความเป็นมาของสำนวนต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ อาจเกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือเกิดจากสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ สังคม ศาสนา หรือแม้กระทั่งเกิดจากวรรณคดี 

มีสำนวนไทยไม่น้อยเลยที่มีต้นกำเนิดมาจากวรรณคดี ดังเช่นสำนวนที่เราอาจจะได้ยินกันมาจนชินหูอย่าง ‘ลูกทรพี’ หรือ ‘วัดรอยเท้า’ สองสำนวนนี้มาจากวรรณคดีเอกของไทยเรื่อง รามเกียรติ์ 

ตำนานการต่อสู้ของสองควายป่า ‘ทรพา’ และ ‘ทรพี’

ยักษ์ “นนทกาล” โยนดอกไม้จีบนางฟ้ามาลี

ความเป็นมาของทั้งสองสำนวนมาจากเรื่องราวของยักษ์เฝ้าประตูที่เขาไกรลาสชื่อ ‘นนทกาล’ ผู้โยนดอกไม้จีบนางฟ้ามาลี พระอิศวรจึงสาปให้ไปเกิดเป็นควายป่าเผือกชื่อ ‘ทรพา’ เมื่อใดที่ถูกลูกชายฆ่าตายจึงจะได้กลับมาเฝ้าประตูเช่นเดิม จากนั้นนนทกาลก็กลายเป็นทรพาควายป่าเผือกร่างใหญ่ มีบริวารเป็นนางควายมากมาย หากให้กำเนิดลูกชาย ทรพาจะขวิดฆ่าทันทีด้วยเหตุกลัวคำสาป 

ควายป่าเผือก “ทรพา”

แต่มีนางควายตัวหนึ่งตั้งท้องและแอบมาคลอดลูกในถ้ำ นางคลอดลูกควายสีดำเพศชายและเล่าเรื่องราวของทรพาให้ฟัง แล้วฝากเทวดาช่วยดูแลเพราะนางจำต้องกลับไปเข้าฝูง เทวดาสงสารจึงเข้าสถิตที่เขาสองข้างกับขาสี่ข้างของลูกควายน้อย พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า ‘ทรพี’

“ทรพี” วัดรอยเท้าบิดา

วันเวลาผ่านพ้นไป ทรพีเติบโตเป็นควายหนุ่มกำยำ มีพละกำลังมหาศาล มันเคียดแค้นทรพานับตั้งแต่ที่แม่เล่าเรื่องราวให้ฟัง ด้วยความแค้นที่สะสมมันคอยติดตามเอารอยเท้าของตนวัดทาบกับรอยเท้าของทรพาทุกวัน จนในที่สุดรอยเท้าของทรพีก็ใหญ่เทียบเท่าพอจะต่อสู้กับพ่อใจอำมหิตได้อย่างทัดเทียม ทรพีตามหาทรพาจนพบและท้าให้มาต่อสู้ ทั้งคู่ต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างดุดันครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดทรพาก็อ่อนแรงและพลาดท่าให้แก่ทรพีจนสิ้นใจตาย นับว่าสิ้นสุดคำสาปของยักษ์นนทกาล

ทรพีต่อสู้กับทรพา

จากเรื่องเล่าสู่ความหมายในสำนวนไทย

จากเรื่องราวของทรพากับทรพีทำให้เกิดสำนวน ‘ลูกทรพี’ โดยมีความหมายว่า ลูกอกตัญญูที่ทำร้ายพ่อแม่ของตน ดังจะเห็นจากทรพีที่คิดแค้นและฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อของตนเอง หากไม่นับเรื่องของทรพาที่ไล่ฆ่าลูกชาย การกระทำของทรพีก็เป็นการเนรคุณต่อผู้ให้กำเนิด และสำนวน ‘วัดรอยเท้า’ มีความหมายว่า คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น ดังเช่นที่ทรพีวัดรอยเท้าตนกับทรพาผู้เป็นพ่อเพื่อรอคอยวันที่จะต่อสู้ได้อย่างทัดเทียม

เรื่องราวความเป็นมาของสำนวนนั้นน่าสนใจไม่น้อย และยังมีสำนวนอีกมากที่ซ่อนเรื่องราวไว้ในวรรณคดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือชุด รามเกียรติ์

 อ้างอิง

https://พจนานุกรมไทย.com

Facebook
Twitter
Email