รามเกียรติ์ ต้นกำเนิดสำนวนสุภาษิต : สิบแปดมงกุฎ

หลังจากที่รู้ต้นกำเนิดของสำนวน ‘ลูกทรพี’ และ ‘วัดรอยเท้า’ ในบทความแรกไปแล้ว ยังมีสำนวนไทยอีกไม่น้อยเลยที่มีต้นกำเนิดจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งที่มาที่ไปของแต่ละสำนวนก็แฝงไปด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจไม่แพ้กัน ดังเช่นสำนวน ‘สิบแปดมงกุฎ’ มีความหมายว่าพวกมิจฉาชีพที่ทำมาหากินโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกลวงผู้อื่น แต่ในเรื่อง รามเกียรติ์ ‘สิบแปดมงกุฎ’ คือเหล่าเสนาวานรของกองทัพพระราม

‘สิบแปดมงกุฎ’ มีทั้งหมดสิบแปดตน เป็นวานรที่มาจากสองเมือง คือเมืองขีดขินและเมืองชมพู แต่เดิมวานรทั้งสิบแปดตนคือเทวดาสิบแปดองค์บนสวรรค์ที่อาสาลงมาเป็นทหารของพระรามสู้ศึกกับพญายักษ์ทศกัณฐ์ อันได้แก่

๑. เกยูร คือ วิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในหัวหน้าเทวดารักษาโลกทั้งสี่ทิศหรือเรียกว่าจตุโลกบาล วิรุฬหกมีหน้าที่รักษาโลกทางทิศใต้ 

เกยูร

๒. มายูร คือ วิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคและเป็นจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก 

มายูร

๓. โกมุท คือ พระหิมพานต์ ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ 

โกมุท

๔. ไชยามพวาน คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร ผู้รับพรจากพระอิศวรให้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปออกรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร

ไชยามพวาน

๕. ไวยบุตร คือ พระพิรุณ เป็นเทพแห่งฝน 

ไวยบุตร

๖. สุรกานต์ คือ พระมหาชัย เป็นเทพเจ้าแห่งชัยชนะ

สุรกานต์

๗. นิลเอก คือ พระพินาย ผู้ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต

นิลเอก

๘. นิลขัน คือ พระพิฆเนศ เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ

นิลขัน

๙. นิลราช คือ พระสมุทร เป็นเทพประจำมหาสมุทร 

นิลราช

๑๐. กุมิตัน คือ พระเกตุ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองสวัสดิมงคล

กุมิตัน

๑๑. สัตพลี คือ พระจันทร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก

สัตพลี

๑๒. วิสันตราวี คือ พระอังคาร เป็นเทพแห่งสงคราม และหนึ่งในเทวดานพเคราะห์ 

วิสันตราวี

๑๓. สุรเสน คือ พระพุธ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ เก่งกาจเทียบเท่าหนุมาน 

สุรเสน

๑๔. นิลปานัน คือ พระราหู หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพผู้สถิตย์บนก้อนเมฆ

นิลปานัน

๑๕. มาลุนทเกสร คือ พระพฤหัสบดี หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าพระครู

มาลุนทเกสร

๑๖. นิลปาสัน คือ พระศุกร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิงและสันติ

นิลปาสัน

๑๗. นิลพานร หรือ วิมลวานร คือ พระเสาร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าแห่งการกสิกรรม

นิลพานร

๑๘. เกสรทมาลา คือ พระไพศรพณ์ เป็นเทพเจ้าแห่งป่า

เกสรทมาลา

จากเรื่องเล่าสู่ความหมายในสำนวนไทย

สำนวนไทย ‘สิบแปดมงกุฎ’ แต่เดิมมีความหมายว่าเหล่าเสนาวานรของกองทัพพระราม เป็นการใช้เรียกนามของเหล่าเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ในวรรณคดีไทยเรื่อง รามเกียรติ์ เพียงเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก มีเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ความหมายอันดีนี้เปลี่ยนไป 

ในช่วงรัชกาลที่หก มีกลุ่มอันธพาลกลุ่มหนึ่งเป็นนักเลงการพนันคอยคุมบ่อน และนักเลงกลุ่มนี้มีรอยสักตามตัวเป็นรูปวานรสิบแปดมงกุฎ เป็นจุดสังเกตโดดเด่นที่ทำให้ชาวบ้านต่างพากันเรียกอย่างติดปากว่า ‘พวกสิบแปดมงกุฎ’ 

นับแต่นั้นเป็นต้นมาคำว่า ‘สิบแปดมงกุฎ’ ก็กลายเป็นสำนวนที่ใช้เรียกขานพวกนักเลงการพนัน และรวมไปถึงใช้เรียกพวกมิจฉาชีพทั้งหลายจนถึงปัจจุบัน โดยสื่อถึงความหมายว่าเป็นพวกที่ยักยอก ต้มตุ๋น หลอกลวง ใช้กลอุบายหรือคำพูดหลอกลวงเพื่อให้หลงเชื่อและยักยอกทรัพย์สินมาเป็นของตน ซึ่งเราจะได้ยินผ่านสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และหนังสือพิมพ์นั่นเอง

แม้ว่าสำนวน ‘สิบแปดมงกุฎ’ จะมีความหมายใช้เรียกพวกมิจฉาชีพจนติดหูกันไปแล้ว แต่ในอีกความหมายหนึ่งสำนวนนี้ก็ยังเล่าขานถึงความดีและความกล้าหาญของวานรสิบแปดมงกุฎมาอย่างยาวนานและยังโลดแล่นอยู่ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์

Boxset รามเกียรติ์

อ้างอิง

https://พจนานุกรมไทย.com
http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai/2017/02/19/entry-1
https://th.wikipedia.org/wiki/วานรสิบแปดมงกุฎ
Facebook
Twitter
Email