รามเกียรติ์ ต้นกำเนิดสำนวนสุภาษิต : น้ำบ่อน้อย

บทความนี้ยังคงกล่าวถึง หนุมาน วานรทหารเอกของพระราม โดยในครั้งที่แล้ววีรกรรมการเผากรุงลงกาของหนุมานได้ก่อกำเนิดสำนวน ‘เหาะเกินลงกา และเหตุการณ์หลังจากนั้นก็ให้กำเนิดอีกสำนวนหนึ่งขึ้นมาเช่นกัน

เหตุก่อนเกิดการเผากรุงลงกา หนุมานที่แปลงร่างเป็นลิงป่าต่อสู้กับอินทรชิตและยอมพ่ายแพ้ ถูกจับให้ไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์เพื่อรับโทษประหาร ในตอนนั้นลิงป่าเก่งกาจมีอิทธิฤทธิ์มากมาย สังหารอย่างไรก็ไม่ตาย ทศกัณฐ์จึงหว่านล้อมให้เข้ารับใช้ แต่ลิงป่าออกอุบายเจ็บหนัก ต่อให้รับเลี้ยงไว้สักวันก็ต้องตาย จึงขอตายในวันนี้เสียดีกว่า 

หนุมานยอมแพ้อินทรชิต

ทศกัณฐ์โกรธที่ถูกปฏิเสธจึงยอมสนองตามความต้องการของลิงป่า โดยสิ่งที่ลิงป่าขอคือ นุ่นกับผ้าชุบน้ำมันยางพันรอบตัวตั้งแต่หัวจรดหาง และพันด้วยฟางอีกชั้น เมื่อจุดไฟก็จะมอดไหม้ไปทันที ทศกัณฐ์หลงเชื่อลิงป่าจนสนิทใจและให้ทุกอย่างที่ต้องการ จากนั้นโดยที่ไม่ทันตั้งตัว ลิงป่าก็แผลงฤทธิ์กระโจนเข้าออกห้องนั้นห้องนี้ไปทั่ว ไม่นานไฟก็ลุกโชนทั่วทั้งกรุงลงกาจนกลายเป็นทะเลเพลิง

หนุมานแผลงฤทธิ์เผากรุงลงกา

หลังหนุมานเผากรุงลงกาจนย่อยยับสมใจ ก็คืนร่างเป็นพญาลิงดังเดิมและสลัดเชื้อไฟออกจากร่าง แต่กลับไม่สามารถสลัดเชื้อไฟออกจากปลายหางได้ ทำอย่างไรไฟก็ไม่ดับลง พญาลิงจึงไปขอความช่วยเหลือกับพระนารทฤาษี

หนุมานหมดปัญญาหาทางดับไฟที่ปลายหางตัวเอง

พระนารทฤาษีเห็นเช่นนั้นก็หัวเราะและกล่าวว่า “หนุมานกล้าทำการใหญ่ แต่ไม่รู้จักใช้น้ำบ่อน้อย” หนุมานจึงคิดได้ ใช้ปากอมหางตน และไฟก็ดับลงทันที ‘น้ำบ่อน้อย’ ที่พระนารทฤาษีกล่าวถึงมีความหมายว่า น้ำลาย จึงแปลได้ว่าหนุมานใช้น้ำลายของตนดับเชื้อไฟที่หางนั่นเอง 

หนุมานขอความช่วยเหลือจากพระนารทฤาษี

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องราวที่ก่อให้เกิดสำนวน ‘น้ำบ่อน้อย’ อันหมายถึง ‘น้ำลาย’ ขึ้นมา แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องย่อเท่านั้น ยังมีเรื่องราวเต็ม ๆ ที่สนุกสนานและแสนระทึกใจอีกมากมายชวนให้ลุ้นและติดตามในเรื่อง ‘รามเกียรติ์’

Boxset รามเกียรติ์

อ้างอิง

พจนานุกรมไทย ฉบับทันสมัย. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2560.

Facebook
Twitter
Email