ในความหลอนมีความรู้กับ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

 รู้หรือไม่ว่าปอบมีกี่ประเภท? เขากำจัดผีปอบกันอย่างไร? เราสามารถมองและเข้าใจปอบในแง่มุมอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง? 

ปั้นเหน่งแม่นากคืออะไร? และทำไมแม่นากจึงกลายเป็นผีที่ “เฮี้ยน” และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอมตะในประวัติศาสตร์ ของผีไทย? 

เมื่อเราเข้าป่า มีผีอะไรบ้างที่อยู่ในป่า? และผีเหล่านั้นให้คุณให้โทษกับเราอย่างไรบ้าง? 

นอกจากความน่ากลัวแล้ว ผีสามารถให้คุณแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง? 

ว่ากันว่า มนุษย์มักกลัวในสิ่งที่เราไม่มองไม่เห็น ไม่เข้าใจ เช่น ความมืด เราสังเกตกันหรือไม่ว่าผีมักจะปรากฏตัวในตอนกลางคืน เพราะเวลากลางคืนเป็นช่วงที่มืดมิด โดยเฉพาะในสมัยโบราณที่ความสว่างไสวนั้นต้องพึ่งพิงตะเกียงหรือคบไฟ เมื่อเรามองออกไปในความมืดมิดอันเวิ้งว้างว่างเปล่านั้นเราไม่อาจเห็นหรือเข้าใจอะไรได้เลย 

ดังนั้น เบื้องหลังความมืดจึงเป็นจินตนาการที่เรามีต่อความไม่รู้ ไม่เห็น และไม่เข้าใจ เราจึงเชื่อว่ามันอาจจะมีความลี้ลับบางอย่างซ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ และสิ่งที่สำคัญอีกประการก็คือ สิ่งลี้ลับเหล่านั้นอาจให้คุณให้โทษกับเราก็เป็นได้… 

ถ้าหากความกลัวหมายถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว นั่นหมายความว่าความกลัวอาจหมดไปได้ถ้าเราเข้าใจในสิ่งนั้นๆ… 

ภาพแม่นากพระโขนง จากหนังสือ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

สังคมไทยอาจรู้จักว่า แม่นากพระโขนง คือผีที่เฮี้ยนและดุร้ายมากๆ ผ่านการชมภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ แต่จะมีใครอธิบายได้บ้างว่า แท้จริงแล้วเรื่อง “ผีแม่นาก” นั้น มีทั้งตำนานที่ระบุถึง “ตัวจริง” ของแม่นาก และยังปรากฏในบทละครอันโด่งดังเมื่อ พ.ศ. 2454 หรือความสัมพันธ์ระหว่าง “ผีแม่นาก” กับคลองพระโขนง วัดมหาบุศย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) 

ภาพเปรตวัดสุทัศน์ จากหนังสือ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

พ่อแม่หลายบ้านคงเคยสอนว่าถ้าบุตรหลานทำตัวไม่ดีตายไปแล้วจะตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง แต่มันจะดีกว่าไหม ถ้าหากเราสามารถบอกลูกหลานได้ด้วยว่า เปรตในสังคมไทยคืออะไร มาจากไหน และมีกี่ประเภท ในหนังสือ ผีไทยไม่มีวันตาย ก็ได้ค้นคว้าเอาไว้อย่างละเอียดสมบูรณ์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือการนำเอาชาดกในพระพุทธศาสนาเรื่อง “มิตตวินทุกชาดก” ซึ่งเป็นที่มาของสำนวน “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” มานำเสนออีกด้วย 

ภาพผีปอบ จากหนังสือ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

เรารู้หรือไม่ว่าปอบมีกี่ประเภทและแตกต่างกันอย่างไร ปอบยักษ์กับปอบเชื้อต่างกันอย่างไร และปอบธรรมดาคืออะไร นอกจากนี้ ปอบยังมีความหมายในเชิงสังคมที่น่าสนใจ เช่น ปอบในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับของสังคม หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือในการขับไล่คน 

ในธรรมชาติอันลี้ลับที่บางครั้งมนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยองค์ความรู้ที่มี ความอัศจรรย์ต่างๆ ก็ถูกนำเสนอในฐานะที่เป็น “ผี” เช่น ผีนางตะเคียน ผีตานี ผีกองกอย โป่งค่าง ผีปกกะโหล้ง

ภาพผีนางตานี จากหนังสือ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

ในโลกของผีนั้นไม่ได้มีแต่ผีที่ชอบออกมาหลอกหลอนแลบลิ้นปลิ้นตาใส่ผู้คน เพราะผีบางประเภทก็เป็นผีที่รักสงบ ไม่ทำอันตรายใครก่อนเว้นแต่จะถูกคุกคาม เช่น ผีโพงและผีเป้า และแม้ว่าผีโพงและผีเป้าจะไม่ทำอันตรายใครก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะใจดีเช่นเดียวกัน

ภาพเสือสมิง จากหนังสือ “ผีไทยไม่มีวันตาย”

เรารู้หรือไม่ว่าเพียงแค่ไม้ขีดไฟก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครคือเสือสมิงและวิธีการฆ่าเสือสมิงต้องใช้กระสุนแบบใด นอกจากนี้เสือสมิงยังได้กลายเป็นนิทานและตำนานที่อธิบายถึงพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย เช่น ถ้ำแม่อุสุ จังหวัดตาก ตำนานเขาสมิง จังหวัดตราด

นอกจากเสือสมิงในฐานะผีที่เป็นสัตว์แล้ว ก็ยังมี “ควายธนู” ในฐานะสัตว์ที่เป็นของขลังในการปราบผีอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบเสือสมิง 

นอกจากข้อมูลที่อัดแน่นและพอเหมาะที่ให้ความรู้เพื่อขจัดความกลัวแล้วภาพประกอบก็มีความสวยงามอย่างยิ่ง แม้จะเป็นเรื่องผีที่น่ากลัว แต่การออกแบบภาพและลายเส้นของภาพนั้นก็ชวนให้ดึงดูดมากกว่าที่จะให้ความน่ากลัวชวนสยองขนหัวลุก 

ผีไทยไม่มีวันตาย ไม่ใช่เพียงแค่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องความเป็นมาของผีประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นองค์ความรู้ของผีที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ สังคม ความเชื่อ ประเพณีในสังคมไทยอีกด้วย การเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้เข้าด้วยกันช่วยให้เด็กๆ ของเราเข้าใจที่มาของความคิด ความเชื่อและประเพณีที่อยู่ในสังคมไทย หรือความน่าสนใจกว่านั้นก็คือการอธิบายผีบางประเภทเข้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย 

การเตรียมพร้อมและฝึกฝนให้เด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจที่รอบด้านเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งของศตวรรษปัจจุบัน ดังนั้นการเริ่มพัฒนาทักษะการหาความรู้รอบด้านอาจเริ่มจากการหาความรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดและน่าสนใจที่สุด กระตุ้นให้พวกเขาสืบค้นความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มจินตนาการอันไม่รู้จบ 

Facebook
Twitter
Email