ไม่ว่าใครต่างคุ้นเคยกับนิทานอีสปกันทั้งนั้น ทั้งเรื่อง “กระต่ายกับเต่า” “หนูกับราชสีห์” หรือ “เด็กเลี้ยงแกะ” ก็ล้วนโด่งดังผ่านหูผ่านตาเรามาทุกคน ว่าแต่อีสปคือใครกันนะ เรามาทำความรู้จักนักเล่านิทานชื่อก้องโลกผู้นี้กันเถอะ
อีสป (Aesop) เป็นนักเล่านิทานชาวกรีก มีชีวิตอยู่ในช่วง 620-564 ปีก่อนคริสตกาล คาดกันว่าอีสปเกิดที่แคว้นฟรีเยีย (Phrygia) ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ในประเทศตุรกี
อีสปมีรูปร่างไม่สมประกอบ หลังค่อม และพูดเสียงอู้อี้คล้ายกับเสียงของสัตว์ ต่อมาเขาถูกขายเป็นทาสรับใช้ของเอียดมอน (Iadmon) ชายผู้มั่งคั่งแห่งเมืองซามอส (Samos) ซึ่งอยู่ในประเทศกรีซในปัจจุบัน
ด้วยความผิดปกติทางร่างกาย ทำให้อีสปต้องดิ้นรนเอาตัวรอด มีไหวพริบ และเผชิญชีวิตอย่างเฉลียวฉลาด ครั้งหนึ่งทาสคนอื่นดูแคลนว่าอีสปโง่เขลา ที่เลือกแบกตะกร้าขนมปังซึ่งหนักที่สุดในบรรดาของทั้งหมด แต่เพียงไม่นานทุกคนก็ได้รู้แจ้ง เพราะขนมปังถูกกินจนหมดเกลี้ยง อีสปจึงถือเพียงตะกร้าว่างเปล่า
ต่อมาอีสปได้เป็นอิสระด้วยปัญญาของตนเอง เขาออกเดินทางจนกระทั่งได้เข้าไปอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์โครเอซุส (Croesus) แห่งแคว้นลิเดีย (Lydia)
ณ ราชสำนักแห่งนี้ อีสปได้เล่านิทานวาทะคมคาย จนเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์โครเอซุส ความที่อีสปเคยเป็นทาสจึงทำให้เข้าใจสัจธรรมของชีวิต ที่ว่าผู้มีอำนาจและพละกำลังมักคุกคามทำร้ายผู้อื่น คนโง่เขลา คนอ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายและหลอกลวง
อีสปเลือกใช้นิทานเป็นหนทางบอกเล่าความจริงแท้ และการใช้ปัญญาในการเอาตัวรอดท่ามกลางการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ โดยใช้บรรดาสัตว์เป็นตัวละครแทนกลุ่มชน เปรียบเปรยวิถีชีวิตของสัตว์ในนิทานเฉกเช่นพฤติกรรมของมนุษย์
ชีวิตนักเล่านิทานผู้ไม่สมประกอบจบลงอย่างน่าเศร้า กล่าวกันว่าอีสปได้กระทำสิ่งที่ทำให้ชาวเมืองเดลฟีโกรธแค้น จนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ด้วยการจับเขาโยนลงจากหน้าผา
นิทานที่อีสปเล่าได้รับการถ่ายทอดเรื่อยมาแบบปากต่อปาก ภายหลังได้มีผู้รวบรวมจดบันทึกไว้เป็นภาษาลาติน และถูกแปล ดัดแปลงนำมาเล่าใหม่จนแพร่หลายไปทั่วโลก แม้เนื้อเรื่องจะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมแต่ละประเทศ
แต่คติและข้อคิดเดิมของอีสปก็ยังคงอยู่