ทำไม “พ่อมดแห่งออซ” จึงเป็นวรรณกรรมในใจเหล่าเด็กน้อย

พ่อมดแห่งออซ (The Wizard of OZ) เป็นวรรณกรรมที่ถูกเขียนขึ้นโดยแอล แฟรงก์ โบม ในปีค.ศ. 1900 ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกและเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งจินตนาการ จึงทำให้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะสำหรับเด็กที่โด่งดังอีกเรื่องหนึ่ง ในบทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปดูเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้มันมีเสน่ห์ และเป็นเหตุผลที่คู่ควรแก่การให้ลูกอ่าน

1. วิธีการดำเนินเรื่อง

1.1 การใช้ทฤษฎีสี (Color Theory) ในการเสริมจินตนาการ

ภายในเรื่องนั้นมีการใช้สีบ่งบอกถึงลักษณะของสถานที่และผู้คน เมืองทางทิศเหนือมีสีขาว ทิศตะวันออกสีเหลือง ทิศตะวันตกสีฟ้า ทิศใต้สีแดง และจุดกึ่งกลางมีสีเขียว เพื่อให้เกิดการจินตนาการตามและสร้างลักษณะเด่นต่าง ๆ ง่ายต่อการจดจำ และเกิดความรู้สึกร่วมกับตัวละคร ซึ่งในจุดนี้เองทำให้สามารถเข้าถึงการผจญภัยของโดโรธีและเหล่าผองเพื่อนได้ลึกซึ้งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บ้านเรือนในเมืองควอดลิงส์ถูกทาเป็นสีแดงสว่าง เมืองวิงกี้ส์เป็นสีเหลือง เมืองมันช์กินส์เป็นสีฟ้าคราม

โดยสีช่วยกระตุ้นพัฒนาการรอบด้านของเด็ก ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบตัว เนื่องจากรอบตัวนั้นมีสีต่าง ๆ ให้เด็กเรียนรู้ ตั้งแต่ผิว เล็บ ของรอบกาย และนำไปสู่การใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะสีคือสิ่งที่อยู่รอบกายเรา เด็กจะเรียนรู้จากสีต่าง ๆ และจดจำว่ามันคือสัญลักษณ์ เช่น ไฟจราจรนั้นมีสามสี และเมื่อสีแดงปรากฏ คือสีที่เด็กไม่ควรข้ามถนน 

1.2 การใช้อัญมณีเป็นเอกลักษณ์ประจำเมือง

1) เมืองมรกตของพ่อมดออซ อยู่ตรงกลางของทั้งสี่เมือง มรกตเป็นสัญลักษณ์ความทรงจำดีและเฉลียวฉลาด ดังเช่นตัวของพ่อมดออซที่มีความหัวหมอ ทั้งให้คนในเมืองใส่แว่นสีเขียวเพื่อให้มองเห็นเมืองเป็นมรกต หรือกระทั่งลูกเล่นมายากลที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่ได้

2) เมืองควอดลิงส์ ทางใต้ของออซ รูบี้แดงอำพันของกลินดา แม่มดผู้เป็นไพ่ใบสุดท้ายแห่งความหวังของโดโรธี รูบี้เป็นอัญมณีสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำ ชักพาพลังด้านบวกและความกล้าหาญ เอาใจใส่ หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งและนำพาไปสู่การปรองดอง จะเห็นได้ว่าตัวกลินดานั้นมีลักษณะนิสัยที่อ่อนโยน แต่น่าเกรงขามในเวลาเดียวกัน จึงตรงกับลักษณะของรูบี้ที่กล่าวมาข้างต้น

3) ทางตอนบนสุดเป็นเมืองสีขาว  ตรงกับลักษณะอัญมณีโทปาส ซึ่งถูกใช้ในการช่วยรักษาผู้คนจากอาการตื่นตระหนก และการบาดเจ็บสาหัส อีกทั้งยังสามารถช่วยปัดเป่าอาการหวาดวิตกได้ด้วย โดยตามเนื้อเรื่องแม่มดแห่งทางเหนือได้ช่วยปลอบโยนและมอบจูบที่หน้าผากเพื่อปกป้องโดโรธีจากอันตรายก่อนการผจญภัยจะเริ่มขึ้น

4) เมืองทางตะวันออก แม่มดใจร้ายผู้ครอบครองหมวกวิเศษ อยู่ในเมืองสีเหลือง ตรงกับอัญมณีซิทริน สีแห่งการสร้างให้เกิดความกล้าที่จะตอบโต้กับการวิจารณ์ ตรงกับลักษณะอันแข็งกร้าวของแม่มดแห่งเมืองตะวันออก

5) เมืองทางตะวันตก เจ้าของเมืองคือแม่มดใจร้ายที่กดขี่ชาวมันช์กินส์ อัญมณีสีฟ้าที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือไดมอน ไดมอนมีลักษณะเด่นในการดึงเสน่ห์ ความหวัง มิตรสหาย และความสุข ซึ่งลักษณะดังกล่าวตรงกับชาวมันช์กินส์ เมื่อพ้นจากการปกครองของแม่มดใจร้ายเมืองกลับมาสงบสุขเฉกเช่นเดียวกับสีฟ้าที่สร้างความสงบแก่ผู้มอง

1.3 พ่อมดแห่งออซมีภาษาที่อ่านง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วิธีเขียนแบบเน้นย้ำทำให้เกิดการจดจำว่าตัวละครปรารถนาสิ่งใด เช่น โดโรธีอยากกลับบ้าน หุ่นไล่กาต้องการสมอง หุ่นกระป๋องต้องการหัวใจ และสิงโตอยากได้ความกล้าหาญ เป็นต้น ช่วยให้ผู้อ่านสามารถฝึกความจำไปพร้อมกับเรื่องราวอันแสนสนุกได้

2. การเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์ชวนให้ขบคิด

เมื่อลองวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้ว พบว่าพ่อมดแห่งออซนั้นได้นำเหล่าตัวละครมาจากของรอบกาย หรือสิ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ซึ่งความธรรมดาที่ว่ากลับทำให้นิทานเรื่องนี้มีเสน่ห์และทำให้เข้าใจถึงเหตุการณ์มากขึ้นผ่านตัวละครเหล่านี้ เช่น

1) สิงโต หมายถึง ความน่าเกรงขาม แข็งแกร่ง และกล้าหาญ เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าป่า ในตอนท้ายเรื่องสิงโตผู้ได้รับความกล้ามาแล้วมีการต่อสู้กับเสือเพื่อแย่งชิงตำแหน่งจ้าวแห่งสรรพสัตว์ และในการต่อสู้ครั้งนี้สิงโตเป็นฝ่ายชนะ

2) หนูนา ณ ทุ่งแห่งการหลับใหล หนูเป็นสัญลักษณ์แห่งความยุ่งเหยิงที่ก่อตัวขึ้นรอบกาย ส่วนดอกป๊อปปี้ถูกใช้เชื่อมโยงกับการปลอบโยน, การรำลึก และความตาย ชาวกรีกโบราณและอียิปต์ยึดโยงดอกป๊อปปี้กับการนอนหลับเพราะยางของดอกป๊อปปี้นั้นมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน นอกจากนี้ชาวกรีกยังให้เป็นดอกไม้ประจำออร์ฟีอัส หรือเทพแห่งการหลับใหลนั่นเอง

3. คติสอนใจ

แน่นอนว่าพูดถึงนิทานคงหลีกเลี่ยงการพูดถึงคติสอนใจไม่ได้ สำหรับพ่อมดแห่งออซมีคติหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ จงอย่าละเลยในสิ่งที่ตนเองมี คนเรามักถวิลหาในสิ่งที่เกินเอื้อม แต่กลับมองข้ามว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นเต็มไปด้วยคุณค่ามากขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น สิงโตต้องการความกล้าหาญ พ่อมดออซมอบเพียงน้ำให้สิงโตดื่มแต่กลับรู้สึกฮึกเหิม แท้จริงแล้วสิงโตต้องการเพียงแค่ความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นแค่นั้นเอง

“พ่อมดแห่งออซ” ฉบับสำนักพิมพ์ห้องเรียน เรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่าย พร้อมภาพประกอบสีสวยงามตลอดทั้งเล่ม ติดตามอ่านเรื่องราวการผจญภัยของโดโรธีและผองเพื่อนได้ใน พ่อมดแห่งออซ

Facebook
Twitter
Email