ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) แปรชีวิตเศร้า เป็นเรื่องเล่าสุดประทับใจ

ชายผู้พบเจอแต่ความเศร้าและความผิดหวังตลอดมา แต่นิทานที่กลั่นออกมาจากชีวิตของเขากลับสร้างความประทับใจให้กับผู้คนมากมาย ผลงานของเขาได้รับการยกย่องให้เป็นนิทานอมตะของโลก ถึงขนาดมีผู้กล่าวไว้ว่านิทานของเขานั้นเป็นบรรณาการยิ่งใหญ่จากเดนมาร์กสู่โลกแห่งวรรณกรรม

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) 2 เมษายน ค.ศ. 1805 – 4 สิงหาคม ค.ศ. 1875 

เขาเกิดในครอบครัวยากจนจากแหล่งสลัมในเมืองโอเดนเซ (Odense) ประเทศเดนมาร์ก พ่อเป็นช่างเย็บรองเท้าที่ยากไร้ แต่รักในบทกวี เขาทำฉากละครให้ลูกชายเล่น รวมทั้งอ่านบทละครและนิทานให้ฟัง สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เด็กชายรักการอ่าน และสนใจการละคร ด้วยความที่หน้าตาขี้เหร่ รูปร่างผอมเก้งก้าง ทำให้เขามักถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เขามักอยู่กับตัวเองและโลกจินตนาการจากบทละคร และนิทานต่างๆ

ต่อมาพ่อของเขาเสียชีวิต เขาจึงต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุเพียง 11 ปีเท่านั้น ทำให้การอ่านเขียนด้อยกว่าเด็กวัยเดียวกัน

เมื่ออายุ 13 ปี เขาได้มีโอกาสเข้าไปชมการแสดงละคร เพราะรู้จักกับคนขายตั๋ว ทำให้เขายิ่งหลงเสน่ห์ในโลกของการละครมากขึ้น และใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง เขาเดินทางออกจากบ้านตอนอายุ 14 ปี พร้อมเงินติดตัวเพียงน้อยนิดสู่กรุงโคเปนเฮเกน ด้วยความหวังจะโลดแล่นในวงการละคร แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะรูปร่างหน้าตาไม่ชวนมอง เขาได้รับบทตัวประกอบเล็กๆ เท่านั้น พร้อมกับหัดเขียนบทละครไปด้วย แต่ด้วยความที่เรียนหนังสือน้อย ทำให้เขามักใช้ภาษาผิดๆ ถูกๆ  

แต่ท่ามกลางความยากลำบากก็ยังพอมีโชคดีอยู่บ้าง เมื่อเขาได้พบกับผู้ใจบุญที่เห็นแววใฝ่ดี ส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือต่อ แม้จะต้องเรียนกับเด็กๆ รุ่นน้อง ในที่สุดก็สามารถคว้าปริญญาตรีมาครองได้สำเร็จตอนอายุ 23 ปี

หลังเรียนจบ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เริ่มออกผลงานเขียนหนังสือ แต่ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงคุณภาพของงานและการใช้ภาษา เขาเสียใจมากเพราะค่อนข้างอ่อนไหวกับคำติชม

นอกจากเรื่องงานจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว เขายังผิดหวังในความรักมาตลอดชีวิต ทำให้ต้องเศร้าโศกเสียใจครั้งแล้วครั้งเล่า


รูปปั้นเงือกน้อย จากนิทานของแอนเดอร์เซน

ริมอ่าวโคเปนเฮเกน
ปั้นโดย เอ็ดวาร์ด อิริกสัน (Edvard Eriksen)

ว่ากันว่าปมด้อยในจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก และความผิดหวังมากมายในชีวิตนี่เอง คือแรงผลักดันให้เขาทุ่มเทให้กับงานเขียน เขาเริ่มเขียนนิทานสำหรับเด็ก โดยเริ่มจากการนำโครงเรื่องพื้นบ้านมาเล่าใหม่ด้วยสำนวนการเขียนของตัวเอง และเริ่มแต่งเรื่องนิทานขึ้นเอง โดยการใช้ภาษาเรียบง่ายทว่าคมคายลึกซึ้ง แฝงแง่คิดให้แก่ผู้อ่าน

นิทานของเขาเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ เนื้อหาแฝงคุณธรรม ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่อ่อนแอ ต้อยต่ำและอับโชค สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาจากตัวตนของเขาที่อยากปลูกฝังความดีงามไว้ในจิตใจของผู้คน ไม่ให้ไปทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น เหมือนที่เขาต้องเผชิญมาทั้งชีวิต

แม้รูปลักษณ์ของเขาจะถูกล้อเลียน แต่นิทานของเขากลับสวยงามและสร้างจินตนาการให้เด็กๆ ทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้ ตลอดชีวิตเขาสร้างผลงานเทพนิยายกว่า 160 เรื่อง ผลงานของแอนเดอร์เซนได้รับการบันทึกไว้ว่าถูกแปลบ่อยครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรม

สำนักพิมพ์ห้องเรียนได้นำนิทานของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนิทานภาพ ในชุดหนังสือนิทานแอนเดอร์เซน 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ รวบรวมนิทานเรื่องเอก 6 เล่ม พร้อมภาพประกอบสวยงาม ได้แก่

หงส์ป่า (The Wild Swans)

เอลิซาพยายามถอนคำสาปให้พี่ชายทั้งสิบเอ็ด เธอต้องถักเสื้อจากไม้พิษและห้ามพูดแม้แต่คำเดียว เป็นผลให้เธอถูกเข้าใจว่าเป็นแม่มดจนถูกจับไปเผาทั้งเป็น แต่เมื่อเสื้อถักคลุมตัวหงส์ป่า ความจริงทั้งหมดก็ปรากฏ

จักรพรรดิกับนกไนติงเกล (The Emperor and The Nightingale)

จักรพรรดิจีนชอบเสียงร้องของนกไนติงเกลมาก จึงจับขังไว้ในกรงทอง แต่ต่อมากลับหันไปชื่นชมนกไขลานซึ่งมีเสียงไพเราะกว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย บทเพลงของนกตัวใดจะช่วยพระองค์เอาไว้ได้

เจ้าหญิงเงือกน้อย (The Little Mermaid)

เมื่อเจ้าหญิงเงือกน้อยอยากเป็นมนุษย์เพื่อครองคู่อยู่กับเจ้าชาย เธอตัดสินใจไปพบแม่มดแห่งท้องทะเล และยอมแลกสิ่งสำคัญกับยาวิเศษที่ใช้เปลี่ยนหางปลาเป็นขาเรียวยาว เจ้าหญิงเงือกน้อยจะได้สมปรารถนาหรือไม่

ชุดใหม่ของพระราชา (The Emperor’s New Clothes)

เรื่องของพระราชาผู้ชอบแต่งตัว พระองค์สั่งตัดชุดใหม่ที่มีแต่คนฉลาดเท่านั้นที่จะมองเห็นเนื้อผ้า คนทั้งเมืองเห็นชุดใหม่ของพระราชากันหมด ยกเว้นเด็กน้อยคนหนึ่ง

ทหารดีบุกผู้ทรหด (The Constant Tin Soldier)

เรื่องราวการผจญภัยของทหารดีบุกขาเดียว ทั้งล่องเรือกระดาษ เผชิญหน้ากับหนูน้ำ และถูกปลาฮุบเข้าไปอยู่ในพุงมืดๆ แต่ทหารดีบุกขาเดียวก็ยังยืนตัวตรงสมกับเป็นทหารแท้จริง

เด็กหญิงไม้ขีดไฟ (The Little Match Girl)

เรื่องของเด็กหญิงขายไม้ขีดในคืนวันคริสต์มาสที่หนาวเย็น เธอจุดไม้ขีดและเห็นสิ่งที่ต้องการอย่างน่าอัศจรรย์ สุดท้ายเธอได้เห็นยายที่ตายจากไปในแสงสว่างของไม้ขีดไฟนั้น

ธัมเบลินา (Thumbelina) จากชุดนิทานสติ๊กเกอร์ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ 

“ธัมเบลินา” เด็กหญิงตัวเท่านิ้วหัวแม่มือถูกนางคางคกลักพาตัวไป เธอหนีเร่ร่อนจนได้อาศัยอยู่กับหนูนา หนูนาขอร้องแกมบังคับให้ธัมเบลินาแต่งงานกับคุณตุ่น แต่นกนางแอ่นที่เธอเคยช่วยชีวิตไว้ก็พาหนีไปพบกับเทวดาจิ๋วรูปงามแห่งอาณาจักรดอกไม้

ข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%8C_%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99

https://board.postjung.com/1015299

https://hilight.kapook.com/view/47492

Facebook
Twitter
Email