พลังของการอ่านคือจุดเริ่มต้นของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นฐานต่อยอดสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด การสร้างสภาพแวดล้อมของการอ่านอย่างมีความสุขจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ และควรส่งเสริมต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเติบโต
เสียงสัมผัสใจ – ถ่ายทอดความอบอุ่นผ่านการได้ยิน
พ่อแม่อาจเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ น้ำเสียงที่อบอุ่นและคุ้นเคยจะมีผลต่อพัฒนาการด้านสมองและจิตใจของเด็ก เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส เด็กจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของ “พ่อแม่” สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ปลอดภัย เกิดความมั่นคงในจิตใจ เป็นสายสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันระหว่างพ่อแม่กับทารกที่อยู่ในครรภ์
เลือกหนังสือให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการต่างกัน จึงควรเลือกหนังสือให้เหมาะกับวัยของเด็ก เช่น เด็กแรกเกิด-4 เดือน ควรเลือกหนังสือที่ภาพมีลายเส้นชัดเจน ไม่ซับซ้อน มีสีน้อยหรือขาวดำก็ได้ ใช้คำง่ายๆ วัย 4 เดือน-1 ปี เริ่มมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมากขึ้น ควรเลือกหนังสือที่มีรูปเล่มแข็งแรง ทนทานต่อการฉีก ดึง ขนาดไม่ใหญ่เกินไป เช่น หนังสือBoard Book หนังสือผ้า หนังสือลอยน้ำ หนังสือที่มีเสียงหรือผิวสัมผัสก็กระตุ้นความสนใจได้ดี ส่วนเด็กวัย 1-3 ปี สามารถใช้หนังสือที่มีภาพประกอบสีสันสดใส ภาพมีความซับซ้อนขึ้น หรือเป็นหนังสือที่อ่านเป็นกลอน เป็นจังหวะ เพราะเด็กเริ่มมีพัฒนาการทางภาษามากขึ้นนั่นเอง
ห้วงยามแห่งความสุข
ทำให้ช่วงเวลาแห่งการอ่านหนังสือร่วมกันเป็นห้วงยามแห่งความสุขของครอบครัว เมื่อลูกยังเล็กควรหาเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟังสม่ำเสมอ อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน พยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการอ่าน เช่น ชี้ชวนให้ดูภาพประกอบ ให้เด็กพลิกหน้ากระดาษเอง หรือคอยตอบคำถามเมื่อเด็กมีข้อสงสัย เด็กก็จะยิ่งใกล้ชิดและผูกพันกับหนังสือ รวมไปถึงการอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนก็เป็นช่วงเวลาพิเศษของครอบครัวที่เด็กๆ เฝ้ารอคอย
ให้เด็กเลือกหนังสือที่ชอบเอง
ลองให้เด็กเป็นคนตัดสินใจเลือกหนังสือที่จะอ่านในแต่ละวัน เด็กบางคนอาจชอบที่จะอ่านเล่มโปรดซ้ำไปซ้ำมาอย่างมีความสุข ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ลองแนะนำหนังสือน่าสนใจใหม่ๆ ด้วยเพื่อเปิดโลกการอ่าน หรือลองพาเด็กๆ ไปเลือกซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือหรือยืมหนังสือที่ห้องสมุด นอกจากจะได้พบหนังสือแปลกใหม่หลากหลายแล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนรู้การใช้พื้นที่สาธารณะและการใช้ห้องสมุดด้วย
ชวนพูดคุยถึงหนังสือที่อ่าน
ลองชวนลูกพูดคุยถึงหนังสือเล่มโปรด หรือเล่มที่เพิ่งอ่านจบไปว่าลูกมีความคิดเห็นต่อเรื่องราวในหนังสืออย่างไร ชอบตัวละครตัวไหนบ้าง หรือถามว่าถ้าลูกเป็นตัวละครนั้นๆ จะทำเหมือนหรือต่างจากในเนื้อเรื่องอย่างไร เน้นเป็นคำถามแบบปลายเปิด ไม่มีถูกหรือผิด เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกคิดใช้เหตุผลและสื่อสารแลกเปลี่ยนได้
กิจกรรมแสนสนุกจากนิทานเล่มโปรด
หากิจกรรมเล่นสนุกต่อยอดจากหนังสือเล่มโปรดของเด็กๆ เช่น เล่นบทบาทสมมติตามเนื้อหาในนิทาน ประดิษฐ์หุ่นสวมนิ้ว หุ่นสวมมือจากเศษวัสดุ หรือวาดภาพตัวละครที่ชื่นชอบ รวมถึงอาจใช้เทคนิคศิลปะอื่นๆ อย่างการตัดปะ หรือปั้นดินน้ำมัน นอกจากจะได้สนุกสนานกับกิจกรรมจากหนังสือเล่มโปรดแล้วยังเป็นการเสริมพัฒนาการ และใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์อีกด้วย
พ่อกับแม่คือต้นแบบนักอ่าน
เมื่อเด็กโตขึ้น และเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทดึงดูดความสนใจของเด็กมากขึ้น การที่พ่อกับแม่ยังคงอ่านหนังสือให้ลูกเห็นเป็นประจำคือการสร้างสภาพแวดล้อมของการอ่านที่ดีที่สุด อาจวางหนังสือไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้านเพื่อจะได้หยิบอ่านเมื่อมีเวลาว่าง และชักชวนลูกมาอ่านหนังสือด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ