คำพูดของคุณกำลังทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในช่วงเดือน ต.ค. 2562 – เม.ย. 2563 ได้ระบุว่ามีเด็ก 141 คน ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว โดยร้อยละ 4 เป็นการทำร้ายทางจิตใจ ตัวเลขดังกล่าวอาจบอกได้ว่าครอบครัวไม่ใช่สถานที่ผ่อนคลายสำหรับทุกคน เพื่อป้องกันการใช้คำพูดทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว ลองสำรวจโดยเริ่มจากตัวคุณกันเถอะ

1) เข้าใจการอยู่ร่วมกับสังคม

สังคมในยุคโลกาภิวัตน์เช่นนี้มีความเปลี่ยนผ่านด้านวัฒนธรรมและความหลากหลายสูง ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัย, บุคลิกภาพ, LGBTQ, ฯลฯ ผู้ปกครองบางท่านอาจก้าวตามไม่ทัน หรือไม่เห็นด้วยกับความแปลกใหม่เหล่านั้น หากแต่ลูกกลับชอบเสียอย่างนั้น การที่เราฝึกลูกน้อยให้เรียนรู้และยอมรับความแตกต่าง ควรเริ่มต้นที่ตัวผู้ปกครองยอมรับและทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกชอบ อาจมีบ้างที่รู้สึกว่าความแปลกใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าเหมาะสม ผู้ปกครองสามารถชี้แจงและอธิบายถึงเหตุผลให้เข้าใจ รู้จักปล่อยวางให้ลูกมีโอกาสได้เรียนรู้ในการตัดสินใจ เมื่อถึงเวลานั้นลูกจะสามารถปรับตัวเข้ากับความหลากหลายที่ไม่สิ้นสุดนี้ได้ด้วยตนเอง

2) หากจะให้ลูกเปิดใจ พ่อแม่ต้องเปิดใจเสียก่อน

บ่อยครั้งที่ลูกเผชิญปัญหา ต้องการจะบอกเล่าแต่รู้สึกพูดยากเสียเหลือเกิน เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมอันเป็นสัญญาณ เช่น การเก็บตัว พูดน้อยลง หรือกระวนกระวายต่อบางสิ่งบางอย่าง ผู้ปกครองควรเป็นผู้เยียวยาจิตใจมากกว่าผู้ตัดสิน รับฟังให้ลูกเกิดความผ่อนคลายด้วยท่าทีอ่อนโยน สร้างความรู้สึกปลอดภัย จากนั้นตอบรับด้วยคำปรึกษาอย่างรอบคอบ ช่วยให้ลูกไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจากการเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง

3) มุกตลกที่ลูกไม่ตลก

การหยอกล้อช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดในครอบครัว ทว่าหากไม่ระมัดระวังคำพูดอาจกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี บ่อยครั้งการหยอกหรือล้อเล่น กลายเป็นท่าทีล้อเลียนสร้างรอยแผลเกินคาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับภาพลักษณ์ภายนอก ซึ่งอาจทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ บางครั้งการหยอกเพียงหนึ่งวินาทีสามารถสร้างบาดแผลในใจได้ยาวนานนับปี 

4) อย่าเปรียบเทียบลูกกับใคร แม้กระทั่งพี่น้องกันเอง

ทุกคนมีความถนัดและความแตกต่างเฉพาะตัว การเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นไม่ได้ช่วยให้เกิดกำลังใจแต่กลับทำให้ลูกหมดความมั่นใจในตัวเอง ดังนั้นควรใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งควบคู่กันเพื่อไม่ให้ลูกเกิดนิสัยหวาดกลัวหรือเอาแต่ใจจนเกินไป

ทุกคนล้วนมีความสวยงามในแบบของตัวเอง สิ่งที่ผู้ปกครองควรตระหนักคือหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร หยุดบังคับให้เด็กเป็นดั่งใจ แต่สนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างภาคภูมิและมีพฤติกรรมเหมาะสม

ก้าวเล็ก ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยมีความมั่นใจมากขึ้น สามารถเริ่มจากหนังสือน่าอ่านที่แฝงเนื้อหาสร้างเสริมกำลังใจ อย่างเรื่อง ‘มหัศจรรย์เมื่อฉันเติบโต’ หนังสือหมวดหมู่ Executive Functions (EF) ที่นักจิตวิทยาเด็กชื่อดัง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์แนะนำ โดยหนังสือจะเล่าเรื่องราวของต้นกล้า เด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ในป่าประหลาด ทำให้ต้นกล้ารู้ว่าเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างเขาก็มีความสุขและความภูมิใจ ด้วยเนื้อเรื่องอันแสนอบอุ่นกับภาพประกอบสุดน่ารัก เหมาะสำหรับลูกน้อยอย่างยิ่ง

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30544

Facebook
Twitter
Email