แดร็กคูลากับแฟรงเกนสไตน์ – เบื้องลึกเบื้องหลัง ผีดังอมตะ

ถ้าให้ลองยกตัวอย่างชื่อที่โด่งดังเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกของภูตผีปีศาจและอสุรกาย “แดร็กคูลา” กับ “แฟรงเกนสไตน์” น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ที่ถูกนึกถึง ด้วยทั้งสองมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น มีเรื่องราวอันตื่นเต้นและน่าสยดสยอง เป็นที่จดจำของผู้คนสืบเนื่องมายาวนาน

รู้หรือไม่ว่าอสุรกายทั้งสองตนนี้ ล้วนมีที่มาจากหนังสือนวนิยายอมตะที่อยู่คู่โลกมานับร้อยปี

แดร็กคูลา – แวมไพร์กระหายเลือด

เคานต์แดร็กคูลา แวมไพร์หรือผีดูดเลือดผู้เป็นอมตะ เป็นชายรูปหน้าผอม ดวงตาสีแดงมีแววโหดเหี้ยม ฟันเล็กแหลมคม สวมชุดคลุมยาวสีดำทั้งตัว และปรากฏตัวเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น เป็นตัวละครจากวรรณกรรมเรื่อง “แดร็กคูลา (Dracula)” ซึ่งเป็นนวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของ แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) นักเขียนชาวไอริช ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1897 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อเรื่องผีดิบดูดเลือดของชาวยุโรปตะวันออก

แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker)
ผู้เขียนนิยาย “แดร็กคูลา (Dracula)”

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นด้วย โจนาธาน ฮาร์เกอร์ เดินทางไปยังทรานซิลเวเนีย ประเทศโรมาเนีย เพื่อขายที่ดินในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้แก่เคานต์แดร็กคูลา เขาถูกจองจำไว้ในปราสาทของท่านเคานต์ และล่วงรู้ความลับอันน่าพรั่นพรึงว่าแดร็กคูลาคือแวมไพร์หรือผีดูดเลือด ที่กำลังวางแผนจะย้ายไปล่าเหยื่อในลอนดอน 

แดร็กคูลาเดินทางไปลอนดอนด้วยเรือซึ่งบรรทุกโลงศพไปเป็นจำนวนมาก เขาดูดเลือดหญิงสาวคนหนึ่งจนเสียชีวิตและกลายเป็นผีดิบดูดเลือด เป็นจุดเริ่มต้นให้ ดร. แวน เฮลซิง กับพรรคพวกต้องร่วมมือกันหาหนทางปลดปล่อยเหยื่อหลายรายที่กลายเป็นแวมไพร์ และปราบแดร็กคูลาให้จงได้ 

มูลเหตุความเชื่อเรื่องแวมไพร์

อาการผู้ป่วยโรคพอร์ไฟเรีย

ในสมัยที่วิทยาการยังไม่เจริญก้าวหน้า เมื่อเกิดโรคระบาดมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งลี้ลับ มีข้อสันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของความเชื่อเรื่องแวมไพร์ น่าจะมาจากผู้ป่วยเป็นโรคพอร์ไฟเรีย เกิดจากความผิดปกติของสารชนิดหนึ่งในเม็ดเลือดแดง ทำให้ผิวของผู้ป่วยบวมแดงและเกิดแผลพุพองเมื่อถูกแสงแดด จึงออกจากอาคารได้เพียงตอนกลางคืนเท่านั้น และเหงือกยังร่นขึ้นไปทำให้ฟันดูยาวขึ้นเหมือนเขี้ยวแหลมอีกด้วย

แฟรงเกนสไตน์ – อสุรกายจากซากศพ

อสุรกายแฟรงเกนสไตน์ มีที่มาจากวรรณกรรมเรื่อง “แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ผลงานของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1818

แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley)
ผู้เขียนนิยาย “แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein)

โดยชื่อ “แฟรงเกนสไตน์” นั้น ไม่ใช่ชื่อของอสุรกาย แต่เป็นนามสกุลของ “วิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์” ผู้ซึ่งได้ทดลองชุบชีวิตขึ้นจากซากศพชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาต่อกัน แต่เมื่อเจ้าอสุรกายมีชีวิตขึ้นมา วิคเตอร์กลับตื่นกลัวจนวิ่งหนีไป

อสุรกายจึงต้องใช้ชีวิตต่อมาอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่อาจเปิดเผยตัวให้ผู้ใดพบเห็น เพราะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ มันต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและโหยหาความรักจากครอบครัว นานวันเข้าจึงสั่งสมเป็นความแค้น มันตามหาวิคเตอร์จนเจอ ขู่ให้เขาสร้างภรรยาให้มาเป็นคู่ชีวิต แต่เมื่อวิคเตอร์ผิดสัญญา เรื่องจึงดำเนินไปสู่โศกนาฏกรรม

แฟรงเกนสไตน์ฉบับภาพยนตร์

ภาพของแฟรงเกนสไตน์ที่เป็นที่จดจำ เป็นชายร่างสูงใหญ่ผิวสีเขียว หน้าผากสูงทรงสี่เหลี่ยม และมีน็อตโผล่ออกมาจากคอ มาจากภาพยนตร์เรื่อง Frankenstein ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 1931 และยังเป็นที่มาของการชุบชีวิตอสุรกายด้วยไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งในนวนิยายต้นฉบับไม่ได้ลงรายละเอียดว่าวิคเตอร์ชุบชีวิตอสุรกายได้อย่างไร

อสุรกายฉบับนิยายกับอสุรกายในภาพยนตร์

ถึงแม้นวนิยายทั้งสองเรื่องจะถูกตีพิมพ์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ปี แต่ยังเป็นที่จดจำของผู้คน เพราะเรื่องราวที่ตื่นเต้น น่าสยดสยอง และสะเทือนใจ และได้มีการนำมาสร้างเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์ การ์ตูน และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แดร็กคูลาและแฟรงเกนสไตน์เป็นตัวละครที่อยู่ในใจของผู้คนตราบนานเท่านาน

ติดตามเรื่องราวโดยละเอียด และเกร็ดความรู้น่าสนใจของแดร็กคูลา, แฟรงเกนสไตน์ และเรื่องราวลี้ลับของผีทั่วโลกได้ในหนังสือ อมตะผีรอบโลก

Facebook
Twitter
Email