นิทานซ่อนเร้น : เมื่อนิทานแฝงนัยยะทางการเมืองการปกครอง

นิทาน ถือว่าเป็นเรื่องราววิเศษที่บันทึกเรื่องราวอันแสนสนุกและแฝงคติสอนใจ เดินทางข้ามผ่านวันเวลา ตระเวนไปตามสถานที่ทั่วโลก อาจถูกปรับเปลี่ยนเนื้อหาบ้างแต่ยังคงความเป็นเสน่ห์ของมันอยู่ กลายเป็นความทรงจำอันน่าคำนึงในวัยเยาว์ของทุกคนที่ได้ใช้เวลาเพลิดเพลินกับโลกแห่งจินตนาการ

แต่ทราบไหมว่านิทานนอกจากจะใช้เพื่อความบันเทิงแล้ว มันยังเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองอีกด้วย !

“อีสป” นักเล่านิทานเอกของโลก

นิทานสะท้อนการเมือง

หากพูดถึงนิทานที่คุ้นเคยกันคงไม่พ้น “นิทานอีสป” มีต้นกำเนิดมาจากบุรุษท่านหนึ่งที่มีนามว่า อีสป (Aesop) ใช้ชีวิตอยู่ในช่วง 620 ปีก่อนคริสตศักราช ณ นครรัฐกรีก มีสถานะเป็นทาสมาแต่กำเนิด อีสปมักใช้เวลาไปกับการเล่านิทานที่แฝงคติสอนใจกับชาวเมืองเสมอ จนกระทั่ง Jadmon นายทาสของอีสปเห็นสติปัญญาอันเฉียบแหลมก็ถูกใจ จึงประกาศปลดปล่อยอีสปจากการเป็นทาส 

นิทานของอีสปนั้นมักใช้ตัวละครหลักเป็นสัตว์ เนื่องจากในยุคสมัยนั้นการสั่งสอนผู้คนถือว่าเป็นหน้าที่ของนักปราชญ์และผู้นำศาสนา หากใครตั้งตนเป็นผู้นำทางความคิดจะถูกตัดสินว่าเป็นพ่อมดหรือแม่มด และถูกประหารชีวิต อีสปจึงหลีกเลี่ยงการสั่งสอนด้วยการใช้สัตว์เป็นการอุปมาอุปไมย เช่น สิงโต หมายถึง ผู้มีอำนาจ, หนู หมายถึง ชนผู้น้อย, สุนัขจิ้งจอก หมายถึง คนเจ้าเล่ห์ เป็นต้น

จากการเป็นทาส เข้าสู่การเป็นราชทูตแห่งเมือง กษัตริย์โครซุส (Croesus) ได้ยินคำบอกเล่าถึงเรื่องนิทานอีสปจึงชักชวนให้เข้าร่วมราชสำนัก และได้รับหน้าที่เป็นราชทูต ตระเวนเล่านิทานสอนใจที่มีใจความต่อต้านความอยุติธรรม โดยหนึ่งในเรื่องอันแฝงคติอย่างแยบยลคงไม่พ้นเรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ” 

ภาพจากหนังสือ “101 นิทานอีสป” ของสำนักพิมพ์ห้องเรียน

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีลูกแกะตัวหนึ่งพลัดหลงจากฝูง โชคร้ายพบกับหมาป่าจอมเจ้าเล่ห์ที่พยายามจับเจ้าลูกแกะเป็นอาหาร แต่เพราะไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นอันธพาลจึงอ้างเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง 

หมาป่าตรงปรี่เข้าไปหาเรื่องลูกแกะที่กำลังดื่มน้ำ ‘เจ้าลูกแกะ แกทำให้น้ำขุ่น ข้าดื่มน้ำไม่ได้’ 

ลูกแกะตกใจ กล่าวขอโทษ ‘ข้าไม่ได้ตั้งใจ แต่ข้าอยู่ปลายน้ำ จะทำให้น้ำขุ่นไปยังท่านที่อยู่ต้นน้ำได้อย่างไรกัน’ 

หมาป่ากล่าวหาเพิ่ม ‘เมื่อคราวหกเดือนที่แล้วเจ้านินทาว่าร้ายข้า’ 

ลูกแกะปกป้องตนเอง ‘เมื่อหกเดือนก่อนข้ายังไม่เกิดเลยท่าน’ 

หมาป่าเริ่มโมโห หากไม่ใช่เจ้าก็ต้องเป็นแม่ของเจ้า ถ้าไม่ใช่แม่ของเจ้าก็ต้องเป็นพ่อของเจ้า’

พอพูดจบหมาป่าก็กระโจนใส่ลูกแกะและเริ่มมื้ออาหารของตัวเองทันที

นิทานเรื่องนี้มีข้อคิดอย่างเฉียบคมว่า “ทรราชย่อมหาเหตุผลในการทรราชได้เสมอ” (The tyrant will always find a pretext for his tyranny) เช่นเดียวกับที่หมาป่าพยายามหาข้ออ้างจนในที่สุดก็กินลูกแกะตัวน้อยอยู่ดี

บทบาทในการปกครองผู้คน

ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านมาเรื่อยแต่นิทานยังคงอยู่คู่กับสังคม แม้กระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 – กลางศตวรรษที่ 19 นักเล่านิทานชื่อดังที่รู้จักกันในนาม “สองพี่น้องตระกูลกริมม์” ประกอบด้วย เจค็อบ ลุดวิจ กริมม์ และ วิลเฮล์ม คาร์ล กริมม์ ทั้งสองมีโอกาสทำงานเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดจึงหลงใหลไปกับการอ่านวรรณกรรม จนตกผลึกออกมาด้วยการรวบรวมนิทานพื้นบ้าน ดนตรีท้องถิ่น คติความเชื่อและโชคลาง โดยทั้งสองจะแบ่งหน้าที่กันคือ เจค็อบเน้นที่งานวิจัย ส่วนวิลเฮล์มทำหน้าที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ แล้วเขียนออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมนิทานเด็กและตีพิมพ์ออกมา 

เสน่ห์ของนิทานพี่น้องตระกูลกริมม์คือมักปรากฏแม่มดทั้งฝ่ายดีและร้ายอยู่เสมอ เนื่องจากยุคสมัยที่พวกเขาอยู่นั้นได้รับอิทธิพลมาจากยุคกลาง (ศตวรรษที่ 4 – 15) ที่ถูกครอบงำด้วยศาสนา ผู้ใดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์จะถูกตราหน้าว่าเป็นแม่มด ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการใช้ปกครองผู้คน ดังนั้น นิทานของพี่น้องตระกูลกริมม์จึงแสดงให้เห็นถึงการเป็นแม่มดชั่วร้ายจะมีจุดจบอันน่าอดสูและรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวในการกระทำผิดแก่ผู้คน ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ฮันเซลกับเกรเทล 

สองพี่น้องชายหญิงที่เกิดในครอบครัวมีฐานะยากจน วันหนึ่งทั้งคู่ถูกพ่อทิ้งในป่าลึกให้เผชิญชะตากรรมโดยลำพัง สองพี่น้องเดินหลงป่าจนกระทั่งเจอบ้านหลังหนึ่งซึ่งทำขึ้นจากขนมหวานทั้งหลัง เกรเทลไม่รอช้า เข้าไปหยิบชิ้นส่วนบ้านกินด้วยความหิวโหย และทั้งคู่ต้องตกใจสุดขีดเมื่อเจ้าของบ้านนั้นคือแม่มดตาบอด

แม่มดจับเกรเทลไปใช้งานเยี่ยงทาส ส่วนฮันเซลถูกขังในกรงและยัดอาหารให้กินจนอ้วน เมื่อฮันเซลอ้วนได้ที่ แม่มดจึงต้มน้ำหม้อใหญ่เตรียมเครื่องปรุงสำหรับอาหารอันโอชะ แต่ถูกเกรเทลผลักตอนเผลอจนแม่มดเข้าไปในกองไฟจนโดนไฟคลอกตาย สองพี่น้องหนีรอดมาจากแม่มดได้

แม้ว่าในอดีตนิทานจะแฝงความลึกซึ้งในแง่ของการเมืองการปกครองสูง แต่ปัจจุบันได้ถูกลดทอนด้านความรุนแรงให้เหมาะสมกับเด็ก ดังนั้น นิทานจึงกลายเป็นเรื่องเล่าส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น เพื่อขัดเกลาเด็กน้อยด้วยเรื่องเล่าที่แฝงคุณธรรมข้อคิดไว้เตือนใจนั่นเอง

สามารถสั่งซื้อนิทานอีสปได้ที่ 101 อมตะนิทานอีสป และ Boxset นิทานอีสป

บรรณานุกรม

ศิลปวัฒนธรรม. (2563). ย้อนประวัติ “อีสป” ผู้แต่งนิทานโด่งดัง กับคติสอนใจ “ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ”. สืบค้นออนไลน์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_34000

นิทานอิสป. (2563). นิทานอิสป. สืบค้นออนไลน์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 จาก https://xn--o3cdbi8era7aon.net

บ้านจอมยุทธ์. (ม.ป.ป.). ความหมายของนิทาน. สืบค้นออนไลน์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 จาก https://www.baanjomyut.com/library_2/folk_tales/01.html

worldfable. (2554). บุคคลสำคัญในโลกนิทาน. สืบค้นออนไลน์เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 worldfable.wordpress.com/category/ว่าด้วยเรื่องของนิทาน/บุคคลสำคัญในโลกนิทาน/

vanat putnark. (2559). ทำไมนิทานมันถึงได้โหดกับเด็กนักฟระ. สืบค้นวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563 จาก https://thematter.co/social/bloody-cutie-fairytale/6298

Facebook
Twitter
Email